คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ คำนึงถึงการเสริมสร้างทักษะความรู้ให้กับนักศึกษาได้เรียนรู้และมีส่วนร่วมจากการปฏิบัติงานจริง พัฒนาศักยภาพและสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการและการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับองค์กร ระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานเทียบเท่า โดยถือเป็นกลไกสําคัญในการขับเคลื่อนให้มหาวิทยาลัยเป็นที่ยอมรับในระดับสากลได้อย่างต่อเนื่องและมีส่วนสําคัญในการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับหน่วยงานต่าง ๆ โดยยึดหลักการผสานประโยชน์และความชํานาญซึ่งกันและกันให้เกิดความร่วมมืออันดีในการสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาการศึกษา ภาษา ศิลปวัฒนธรรม การวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ เศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนสนับสนุนการจัดกิจกรรม โครงการทางวิชาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง การศึกษาดูงาน การพัฒนาบุคลากร การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารการศึกษาวิจัยเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ ๆ อันจะนํามาซึ่งการเอื้ออํานวยประโยชน์ ทางการศึกษาต่อกันอย่างยั่งยืน จึงได้ดำเนินการจัดโครงการส่งเสริมทักษะด้านการท่องเที่ยวและการบริการในสถานการณ์แบบปกติใหม่ (New normal) ในระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนกรกฎาคม 2565
กิจกรรมที่ 1 กิจกรรมการพัฒนาศักยภาพนักศึกษาสู่การเตรียมความพร้อมการเป็นบัณฑิตนักปฏิบัติ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพนักศึกษาสู่การเตรียมความพร้อมการเป็นบัณฑิตนักปฏิบัติ โดยการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับการท่องเที่ยวโดยอาจารย์และนักศึกษาในสาขาวิชาการท่องเที่ยว ศูนย์สุพรรณบุรี ทั้งรูปแบบ Online และรูปแบบ Onsite โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี ได้แก่ โรงเรียนธรรมโชติศึกษาลัย โรงเรียนบรรหาญแจ่มใส โรงเรียนศรีประจันต์เมธีประมุข โรงเรียนสามชุกรัตนโภคาราม โรงเรียนโพธิ์ทอง (จินดามณี) โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุพรรณบุรี โรงเรียนโพธิสัมพันธ์พิทยาคาร วิทยาลัยเทคโนโลยีนีรชาบริหารธุรกิจ โรงเรียนชัยนาทพิทยาคม โรงเรียนหันคาพิทยาคม โรงเรียนสงวนหญิง และโรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 6 ซึ่งมีนักเรียนเข้าร่วมโครงการจำนวนทั้งสิ้น 292 คน และนักศึกษาสาขาวิชาการท่องเที่ยวที่ดำเนินโครงการได้ฝึกกระบวนการทำงานในรูปแบบของการจัดประชุมสัมมนา การจัดกิจกรรมบริการวิชาการและวิชาชีพ ตลอดจนฝึกภาวะผู้นำอีกทั้งเพื่อส่งเสริมความรู้ ทางด้านการท่องเที่ยวให้กับบุคคลภายนอกและนักเรียนกลุ่มเป้าหมาย ให้มีความรู้ความเข้าใจในบริบทของภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวและการบริการมากขึ้น ซึ่งได้จัดกิจกรรมระหว่างเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2565
กิจกรรมที่ 2 การเป็นเจ้าบ้านที่ดีด้านการท่องเที่ยว มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้และทักษะการเป็นเจ้าบ้านที่ดีด้านการท่องเที่ยว โดยในการจัดโครงการครั้งนี้ มีนักศึกษาสาขาการท่องเที่ยว จำนวน 40 คน ซึ่งกิจกรรมเป็นการทัศนศึกษาแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเป็นการบูรณาการกับรายวิชาต่าง ๆ ในสาขาวิชาทีมีการจัดการเรียนการสอน จำนวนทั้งสิ้น 9 วิชา ได้แก่ รายวิชา Thai Arts and Culture for Tourism รายวิชา Cross-Cultural Communication for Tourism วิชา Thai History for Tourism รายวิชา Principles and Tourist Guide Operation รายวิชา Marketing for Tourism Business รายวิชา Seminar on Tourism รายวิชา Tourism Recreation รายวิชา Communicative English for Tourism และรายวิชา Bar and Beverage Operation and Management ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 25655 ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
กิจกรรมที่ 3 กิจกรรมการบริการวิชาการสู่วิชาชีพในศาสตร์การผสมเครื่องดื่มสำหรับธุรกิจการบริการ มีโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้หลักการ ทฤษฏีในการจัดเตรียมเครื่องดื่มการสร้างทักษะการปฏิบัติงานบริการเครื่องดื่มในธุรกิจท่องเที่ยวและการบริการ รวมถึงการบริการวิชาการองค์ความรู้ในด้านการท่องเที่ยวและการโรงแรมให้กับโรงเรียนเครือข่ายและเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สาขาวิชาการท่องเที่ยว คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิศูนย์สุพรรณบุรีให้เป็นที่รู้จักและสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างโรงเรียนเครือข่ายกับมหาวิทยาลัย โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และชั้นปีที่ 6 เข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น 80 คน ในวันที่ 6 กรกฏาคม 2565 ณ โรงเรียนธรรมโชติศึกษาลัย จังหวัดสุพรรณบุรี
ตลอดระยะเวลาที่ดำเนินโครงการมีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวนทั้งสิ้น 412 คน โดยพบว่าผู้เข้าร่วมโครงการมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเพิ่มขึ้น (SDGs) นับว่าเป็นความร่วมมือที่ยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อ 17 (Partnerships for the Goals) โดยได้รับความร่วมมือจากบุคลากรภายใต้สังกัดคณะ และส่วนงานทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ในโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี 13 สถาบัน ในการเข้าร่วมโครงการ ซึ่งโครงการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนรับทราบและเข้าใจถึงแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน การให้ความรู้ด้านวิชาชีพอันเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อ 4
Tag : #ศศsdg4.3.3 #ศศsdg4.3.4 #ศศsdg17.2.1 #ศศsdg17.2.2