คณะศิลปศาสตร์จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดี U2T ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG

                    ด้วยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ดำเนินโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2565 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการด้าน BCG ในพื้นที่ โดยการนำองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในสถาบันอุดมศึกษา ไปขับเคลื่อนทั้งในภาคการผลิตและบริการในระดับพื้นที่ เพื่อให้เกิดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เพิ่มและรักษาระดับการจ้างงานของบัณฑิตที่พึ่งจบการศึกษาและประชาชนในพื้นที่ รวมถึงการพัฒนาฐานข้อมูล Thailand Community Big Data (TCD) ให้มีความสมบูรณ์ครอบคลุมในทุกพื้นที่ของประเทศ คณะศิลปศาสตร์ร่วมดำเนินโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG จำนวน 20 ตำบล ในพื้นที่ 5 จังหวัด (พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ลพบุรี สุพรรณบุรี และนนทบุรี) ระหว่างเดือนกรกฎาคม ถึงเดือนกันยายน 2565 โดยจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดี U2T ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG ในวันที่ 21 กันยายน 2565 ซึ่งมีตำบลที่เข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งสิ้น 12 ตำบล ดังนี้

                    ตำบลพิมลราช อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี การเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของผลิตภัณฑ์ชุมชนตำบลพิมลราช เพื่อการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของผลิตภัณฑ์ทองม้วนทองพิมล สบู่เหลวอาบน้ำ และไข่เค็มสมุนไพร ด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้วยการหยิบยกทรัพยากรท้องถิ่นที่ชุมชนให้คุณค่าและคนภายนอกเห็นคุณค่าสรรค์สร้างให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนเกิดเอกลักษณ์ท้องถิ่น ด้วยการจัดการความรู้ควบคู่กับการพัฒนาให้เป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพการตลาดแบบออนไลน์เพื่อการแข่งขัน

                    ตำบลบ้านกุ่ม อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา การตัดเย็บบรรจุภัณฑ์สำหรับใส่ผลิตภัณฑ์ของฝากชุมชนตำบลบ้านกุ่ม และ กิจกรรมบริการเส้นทางซาเล้งท่องเที่ยวชุมชนตำบลบ้านกุ่ม ซึ่งทั้ง 2 กิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับหลัก BCG มีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับชุมชน สินค้าและบริการของทีม U2T for BCG ตำบลบ้านกุ่มเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสินค้าบรรจุภัณฑ์ได้รับความร่วมมือในการตัดเย็บ จากกลุ่มชมรมผู้สูงอายุในชุมชน และผ้าที่ใช้ในการตัดเย็บย้อมด้วยสีจากธรรมชาติที่ได้มาจากวัสดุธรรมชาติซึ่งมีอยู่ภายในชุมชน นอกจากนี้ ทางทีม U2T for BCG มีความมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์และบริการของเรามีประสิทธิภาพและคุณภาพที่ดีเกิดประโยชน์และปลอดภัยต่อการใช้งาน ทั้งนี้ยังสามารถสร้างชื่อเสียงและรายได้ให้กับชุมชนตำบลบ้านกุ่มอีกด้วย

                    ตำบลบ้านโพ อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา การเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการด้าน BCG ในพื้นที่ ด้วยองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมโดยมีกิจกรรมดำเนินการพัฒนา 3 กิจกรรม ประกอบด้วยกิจกรรมที่ 1 อบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้ารองรับความต้องการผู้บริโภคในตลาดร่วมสมัย กิจกรรมที่ 2 อบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ (Package) เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าบนฐานคิดเศรษฐกิจ BCG และกิจกรรมที่ 3 อบรมเชิงปฏิบัติการฝึกทักษะด้านการตลาดสมัยใหม่เพื่อเพิ่มช่องทางการขายของผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยทั้ง 3 กิจกรรมถูกพัฒนาขึ้นบนความท้าทายของบริบทเชิงพื้นที่ที่มีข้อจำกัด หลายประการ เช่น การประสบปัญหาน้ำท่วม การประสบปัญหาในการบริหารกลุ่มอาชีพ ตลอดทั้งปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในปัจจุบัน

                    ตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา การพัฒนาผลิตภัณฑ์ของชุมชนตำบลลำไทร 2 ผลิตภัณฑ์ คือ ผลิตภัณฑ์น้ำพริกกากหมูบ้านลำไทร และผลิตภัณฑ์ไก่ฝอยบ้านลำไทร โดยมีการดำเนินงานการฝึกอบรม Work Shop เสริมสร้างอัตลักษณ์และส่งเสริมการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน ทางการตลาดออนไลน์ เพื่อรองรับเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ของชุมชนที่มีอยู่เดิมให้สามารถจัดจำหน่ายได้ผ่านระบบออนไลน์ โดยการฝึกอบรมคนในชุมชนตำบลลำไทรให้สามารถจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในรูปแบบออนไลน์ เพื่อสร้างรายได้ มีความเป็นระบบครบวงจร และเป็นประโยชน์ต่อคนในชุมชนอย่างยั่งยืน

                    ตำบลวังน้อย อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา การจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนเชิงเกษตรและศาสนา ตำบลวังน้อย เป็นการนำทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ตำบลวังน้อย นำกลับมาเข้าสู่กระบวนการบริหารจัดการอย่างมีระบบ โดยเริ่มจากกระบวนการสำรวจทรัพยากรที่น่าใจในพื้นที่ และศึกษาข้อมูลเชิงลึกจากเอกสารที่เกี่ยวข้องและการสัมภาษณ์ปราชญ์ชุมชน เกษตรกร อบต. กลุ่มวิสาหกิจชุมชน พัฒนาชุมชน ผู้นำท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ แล้วทำการวิเคราะห์เชิงข้อมูลและสรุปผลข้อมูลอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชนและผู้นำชุมชนในพื้นที่ เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจถึงการจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวชุมชน และข้อมูลที่จะใช้ในการสื่อความหมายทางการท่องเที่ยวของชุมชน จากกระบวนการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวส่งผลให้ชุมชนตำบลวังน้อยเกิดความตระหนักในทรัพยากรที่ชุมชนมีอยู่ สร้างการเรียนรู้การทำงานร่วมกันของชุมชน สามารถนำมาพัฒนาต่อยอด ส่งเสริมให้เป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวชุมชน และยังสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชุมชน และนอกจากนี้ยังสามารถทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน สามารถนำผลการดำเนินงานไปต่อยอดสู่การวางแผนพัฒนาเชิงพื้นที่ในปีต่อไป

                    ตำบลบ้านโพธิ์ อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี พัฒนาผลิตภัณฑ์ของชุมชน ให้มีมาตรฐานเพื่อตอบโจทย์การผลิตสินค้าที่เป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชน ผ่านช่องทางการจำหน่ายทั้งในตลาดทั่วไปและจำหน่ายช่องทางออนไลน์ เป็นการสร้างรายได้เพื่อประโยชน์ของคนในชุมชนอย่างยั่งยืน ดังนั้นในการดำเนินงานจึงมุ่งที่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน จำนวน 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มหัตถกรรมจักสานผักตบชวาบ้านโพธิ์ และกลุ่มสมุนไพรแปรรูปบ้านโพธิ์ โดยการพัฒนาตราสัญลักษณ่ผลิตภัณฑ่ให้มีความทันสมัยและโดดเด่น การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้มีความสวยงาม คงทน น่าสนใจและตอบสนองต่อความต้องการของตลาดในปัจจุบันเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ รวมถึงการสร้างช่องทางการขายแบบปกติและการขายในตลาดออนไลน์เพื่อเพิ่มจํานวนยอดขายสร้างรายได้ให้กับชุมชน

 

                    ตำบลโคกสลุด อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี พัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ประเภทอาหารเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจชุมชนตำบลโคกสลุด โดยตำบลโคกสลุดมีการรวมกลุ่มของชุมชนที่ในการสร้างผลิตภัณฑ์ ด้านอาหาร จากทรัพยากรในชุมชนหลากหลายประเภท เช่น ไข่เค็มสมุนไพร แหนมหมู แหนมเห็ด ปลาส้ม ปลาร้า ข้าวหลาม เป็นต้น  แต่ถึงกระนั้นคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจภายในชุมชนตำบลโคกสลุดก็ยังไม่เกิดผลดีเท่าที่ควร เพราะการรวมกลุ่มกันยังไม่เข้มแข็งพอ โดยส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุซึ่งยังไม่สามารถนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ได้อย่างเต็มที่ ไม่ค่อยมีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปราชญ์ชาวบ้านหรือผู้มีความรู้ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นไม่มีพื้นที่ แสดงความรู้ความสามารถและศักยภาพได้เต็มที่ และที่สำคัญชุมชนยังขาดความรู้ความเข้าใจในการบริหาร จัดการด้านธุรกิจ  เช่น การวางแผนการตลาด การเพิ่มมูลค่า การใช้ทุนเดิมในชุมชนมาต่อยอด การพัฒนา ผลิตภัณฑ์ การออกแบบและสร้างสรรค์บรรจุภัณฑ์ให้น่าสนใจ การจัดจำหน่ายตามช่องทางต่าง ๆ ในยุคปัจจุบัน การสร้างความมั่นคงของธุรกิจ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นต้อง อันจะนำไปสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาข้างต้นได้อย่าง มีคุณภาพและคลอบคลุมทุกมิติอย่างยั่งยืน

   

                    ตำบลลาดสาลี่ อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี การยกระดับผลิตภัณฑ์ ออกแบบตราสัญลักษณ์และบรรจุภัณฑ์กของพื้นที่ตำบลลาดสาลี่  โดยการจัดทำโครงการ 2 โครงการ ได้แก่ พัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ปลาร้าสับ ตำบลลาดสาลี่ อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี และพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ไข่เค็มพอกใบเตย ตำบลลาดสาลี่ อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี เพื่อให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง มีความรู้ มีทักษะความสามารถ และยกระดับชุมชนตำบลลาดสาลี่ไปสู่ความยั่งยืนตามแนวคิด BCG เกิดการจัดการในระดับชุมชนและตำบลที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลทั้งทรัพยากรภายในชุมชนอย่างเป็นระบบ เกิดรายได้เพิ่มขึ้นและมีการกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนอย่างเป็นธรรม เกิดความรัก ความสามัคคี และความเข้มแข็งในการเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนในมิติด้านต่าง ๆ อย่างสร้างสรรค์นำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการบนฐานศักยภาพของชุมชน  การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้มีคุณค่าสู่การเพิ่มมูลค่าและยกระดับผลิตภัณฑ์ รวมทั้งเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายในรูปแบบออฟไลน์ในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียงและบนแพลทฟอร์มออนไลน์ เช่น Facebook Page, Line OA,Shopee และ Lazada เป็นต้น

                    ตำบลป่างิ้ว อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง การสร้างเอกลักษณ์ท้องถิ่นสำหรับพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนป่างิ้ว ภายใต้โครงการ U2T for BCG มีวัตถุประสงค์การดำเนินงานเพื่อพัฒนาและยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (ทองม้วนสมุนไพร กล้วยฉาบสมุนไพร) ให้มีเอกลักษณ์ท้องถิ่น และเพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการด้าน BCG ในพื้นที่ ด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้วยการหยิบยกทรัพยากรท้องถิ่นที่ชุมชนให้คุณค่าและคนภายนอกเห็นคุณค่าสรรค์สร้างให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนเกิดเอกลักษณ์ท้องถิ่น ด้วยการจัดการความรู้ในร่วมกันโดยใช้เครื่องมือ 1) การถ่ายทอดความรู้โดยการเล่าเรื่อง การเรียนรู้จากบทเรียนที่ผ่านมา สภากาแฟ การจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และชุมชนนักปฏิบัติ ผ่านการถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชนด้วยการทำงานแบบมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยผลการดำเนินงานในครั้งนี้ผลิตภัณฑ์ของชุมชน ได้แก่ ทองม้วนสมุนไพร กล้วยฉาบสมุนไพร ถูกพัฒนาและยกระดับโดยการเพิ่มสูตรของแต่ละผลิตภัณฑ์ การสร้างตราสินค้า และบรรจุภัณฑ์ให้มีเอกลักษณ์ท้องถิ่นมากขึ้น เป็นที่ต้องการของตลาด สร้างรายได้ให้กลุ่มอาชีพและชุมชนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ชุมชนเกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันและเกิดนวัตกรรมการแก้ปัญหาเชิงกระบวนการ ซึ่งชุมชนอื่น ๆ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการสร้างอัตลักษณ์ผลิตภัณฑ์ของชุมชนได้

                    ตำบลศรีพราน อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง และตำบลห้วยไผ่ อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์การแปรรูปกล้วย เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์บนฐานทรัพยากรท้องถิ่นในชุมชน โดยมีกิจกรรม 2 กิจกรรม ได้แก่ 1. การพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์แปรรูปกล้วยสู่ตลาดในเชิงพาณิชย์ของตำบลศรีพรานและ 2. การบริการส่งเสริมการตลาดและช่องทางการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เพื่อให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง มีความรู้ มีทักษะความสามารถ และยกระดับชุมชน ไปสู่ความยั่งยืนตามแนวคิด BCG เกิดการจัดการในระดับชุมชนและตำบลที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลทั้งทรัพยากรภายในชุมชนอย่างเป็นระบบเกิดรายได้เพิ่มขึ้นและมีการกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนอย่างเป็นธรรม เกิดความรัก ความสามัคคี และความเข้มแข็งในการเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน ในมิติด้านต่าง ๆ อย่างสร้างสรรค์นำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการบนฐานศักยภาพของชุมชนอย่างมีส่วนร่วมที่ก่อให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจท้องถิ่นในอนาคตอย่างยั่งยืน

                    ตำบลย่านยาว อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี การพัฒนาผลิตภัณฑ์ในชุมชนและช่องทางการตลาดออนไลน์ โดยมีกิจกรรมจัดอบรมให้ความรู้เรื่องการพัฒนาบรรจุภัณฑ์และฝึกทักษะด้านการตลาดเพื่อส่งเสริมการตลาด และการส่งเสริมด้านการตลาดของผลิตภัณฑ์ภายในชุมชน และจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องการออบแบบและพัฒนาทักษะในการจักสานผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีมาตรฐาน มีอัตลักษณ์เป็นของชุมชน และการพัฒนาบรรจุภัณฑ์และฝึกทักษะด้านการตลาดเพื่อส่งเสริมการตลาด เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและเพิ่มยอดขายให้แก่ชุมชนก่อให้เกิดรายได้ภายในชุมชน  โดยใช้เครื่องมือการจัดการความรู้คือการทบทวนสรุปบทเรียน (After action review หรือ AAR) และการเรียนรู้โดยการปฏิบัติ (Action Learning) อันจะเกิด Soft Skills และ Critical Thinking แก่ผู้ร่วมกิจกรรม ซึ่งจะเป็น ประโยชนน์ยิ่งต่อการปฏิบัติงานร่วมกับผู้อื่น

                 

                    ตลอดระยะเวลาการจัดกิจกรรม มีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 120 คน และจากการดำเนินโครงการพบว่าผู้เข้าร่วมโครงการมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเพิ่มขึ้น (SDGs) นับว่าเป็นความร่วมมือที่ยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อ 17 (Partnerships for the Goals) โดยได้รับความร่วมมือจากบุคลากรภายใต้สังกัดคณะ และส่วนงานทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยในการเข้าร่วมกิจกรรม และมีแนวปฏิบัติที่ดีจากการจัดโครงการดังกล่าว ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนรับทราบและเข้าใจถึงแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน อันเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อ 4 (Quality Education) และโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลัง   โควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG ยังเป็นการสร้างรากฐานการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่สมควร สำหรับทุกคน ตามเป้าหมายข้อ 8 (Decent Work and Economic Growth) อีกด้วย



Tag : #ศศsdg4.3.1 #ศศsdg4.3.2 #ศศsdg4.3.3 #ศศsdg17.2.1 #ศศsdg17.2.2



ข้อมูลจาก : นริศรา มหะหมัด


117 ครั้ง

Address
การให้บริการ

สถิติการเข้าชม
  • วันนี้ : 15 ครั้ง
  • เดือนนี้ : 2794 ครั้ง
  • ปีนี้ : 20171 ครั้ง
  • ทั้งหมด : 45337 ครั้ง
Follow Us

Copyright ©2020 GreenUniversity | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ