คณะนักวิจัยจากสาขาระบบสารสนเทศและคอมพิวเตอร์ธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ นำโดย ดร. แสงทอง บุญยิ่ง ดร.สุวิทย์สมสุภาพรุ่งยศ ดร.ปริญญา นาโท ดร.อเนก พุทธิเดช ผศ.รัศเมศวร์ ตันวีนุกูล และอาจารย์ลิขิต แจ่มอุทัย ได้ดำเนินการวิจัยเชิงพื้นที่ในเขตพื้นที่ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบว่า พื้นที่ทำนาเชิงอุตสาหกรรมของอำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพื้นที่ที่ประสบประสบปัญหาน้ำแล้งและน้ำหลากอย่างซ้ำซากทุกปี ส่งผลต่อชีวิต ความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่
คณะนักวิจัยจึงได้ทำการวิจัยเพื่อบูรณาการศาสตร์ทางด้านปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรในการบริหารจัดการน้ำเพื่อลดต้นทุนในการผลิตข้าวจากการทำนาเชิงอุตสาหกรรม โดยมีวัตถุประสงค์การวิจัยเพื่อ 1) เพื่อศึกษาและวิเคราะห์รูปแบบการพยากรณ์ปริมาณน้ำเพื่อการตัดสินใจการทำนาเชิงอุตสาหกรรมในอำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 2) เพื่อพัฒนาต้นแบบเครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์บนพื้นฐานปัญญาประดิษฐ์สนับสนุนการตัดสินใจในการจัดการน้ำเพื่อการทำนาเชิงอุตสาหกรรม 3) เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีและสร้างการยอมรับเทคโนโลยีที่ได้จากการวิจัยลงสู่กลุ่มเกษตรกรทำนาเชิงอุตสาหกรรมในเขตพื้นที่ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เมื่อโครงการวิจัยนี้เสร็จสิ้นจะเกิดผลผลิตที่เป็นองค์ความรู้ ได้แก่ รูปแบบการพยากรณ์ปริมาณน้ำเพื่อการตัดสินใจการทำนาเชิงอุตสาหกรรมในพื้นที่การปลูกข้าวที่มีความเสี่ยงทั้งน้ำแล้งและน้ำท่วม เกิดผลผลิตด้านนวัตกรรมจากการวิจัย คือ ต้นแบบเครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์บนพื้นฐานปัญญาประดิษฐ์สนับสนุนการตัดสินใจในการจัดการน้ำเพื่อลดความเสี่ยงและลดต้นทุนในการทำนาเชิงอุตสาหกรรม โดยมีการถ่ายทอดและสร้างการยอมรับนวัตกรรมที่ได้จากการวิจัยลงสู่ชุมชนกลุ่มเป้าหมายและชุมชนอื่นๆ ในพื้นที่ใกล้เคียงอย่างน้อย 1 ชุมชน
ปัจจุบันโครงการวิจัยนี้ดำเนินการถึงวัตถุประสงค์การวิจัยข้อที่ 2 คือ การพัฒนาต้นแบบเครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์บนพื้นฐานปัญญาประดิษฐ์สนับสนุนการตัดสินใจในการจัดการน้ำเพื่อการทำนาเชิงอุตสาหกรรม เกิดผลกระทบเชิงบวกแก่เกษตรกรผู้ทำนาเชิงอุตสาหกรรม (นาแปลงใหญ่) ในพื้นที่ตำบลหัวเวียงอำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประมาณ 500 ไร่ หลังจาการพัฒนาต้นแบบเสร็จสิ้นและผ่านการทดสอบประสิทธิภาพในระดับภาคสนาม (ใช้งานจริงในแปลงนาเชิงอุตสาหกรรม ของชุมชนตำบลหัวเวียง) คณะนักวิจัยจะได้มีการถ่ายทอดและสร้างการยอมรับต้นแบบเทคโนโลยีที่ได้จากการวิจัยลงสู่เกษตรกรในชุมชนเป้าหมาย 1 ชุมชน และชุมขนใกล้เคียงอีก 1 ชุมชน เพื่อขยายผลการวิจัยและผลักดันให้เทคโนโลยีที่ได้จากการวิจัยได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มความมั่นคงทางอาชีพของกลุ่มเกษตรผู้ทำนาเชิงอุตสาหกรรม และเป็นต้นแบบให้กับเกษตรกรชุมชนอื่น ๆ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาให้ยั่งยืนต่อไปในอนาคต
Tag : #บทsdg6.5.1 # บทsdg6.5.2 # บทsdg6.5.3