เกษตรอยุธยา “ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตแห้วอินทรีย์เพื่อขอรับรองมาตรฐาน”

 

แห้วถือเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญพืชหนึ่งของอำเภอศรีประจันต์ และเป็นพืชเศรษฐกิจอันดับที่ 6 ของจังหวัดสุพรรณบุรี จากรายงานของงานสารสนเทศด้านการเกษตรและสหกรณ์จังหวัดสุพรรณบุรี (กุมภาพันธ์  2564) พบว่าจังหวัดสุพรรณบุรีมีพื้นที่ปลูกแห้วมากถึง 3,396 ไร่ พื้นที่เก็บเกี่ยว ทั้งสิ้น 1,885 ไร่ ผลผลิตรวม 5,673 ตัน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรปีละประมาณ 68.98 ล้านบาทต่อปี และยังก่อให้เกิดการจ้างงานในชุมชน เช่น อาชีพรับจ้างปอกแห้ว แปรรูปแห้ว เป็นต้น และจากแผนจังหวัดสุพรรณบุรี ปี 2560-2564 กำหนดวิสัยทัศน์จังหวัดสุพรรณบุรีว่า “สุพรรณบุรีเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตร และอาหารปลอดภัยชั้นนำ ท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ บ้านเมืองสะอาด ธรรมชาติสมบูรณ์ ศูนย์การศึกษา และการกีฬา ประชาชนคุณภาพชีวิตดี” ดังนั้นการพัฒนาและขยายกลุ่มผู้ปลูกแห้วอินทรีย์เป็นแนวทางหนึ่งในการดำเนินงานตามแผนของจังหวัดสุพรรณบุรี ปี2560-2564

จากการที่ผู้บริโภคไม่เชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัยจากสารตกค้างในแห้ว การยกระดับการผลิตแห้วอินทรีย์และผลิตภัณฑ์แห้วอำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคและการตลาดแห้วและผลิตภัณฑ์แห้ว การดำเนินงานของ ดร.ศิโรรัตน์ เขียนแม้น และคณะ จากสาขาวิชาพืชศาสตร์ คณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ จึงได้จัดทำโครงการงานวิจัยเรื่อง “การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตแห้วอินทรีย์เพื่อขอรับรองมาตรฐาน” ซึ่งได้ดำเนินการลงพื้นที่ติดตามการดำเนินการ แปลงแห้วอินทรีย์ของเกษตรกรที่สมัครเข้าร่วมการตรวจประเมินแปลงแห้วอินทรีย์จำนวน 20 คน จัดการอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตแห้วอินทรีย์ ณ ห้องประชุมสำนักงานเทศบาลวังยาง ตำบลวังยาง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี ระหว่างวันที่ 14 และ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2565 รวมถึงตรวจประเมินแปลงเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม เก็บตัวอย่างดิน น้ำ ส่งวิเคราะห์ความอุดมของดิน สารตกค้าง ผลผลิตแห้วเพื่อส่งวิเคราะห์สารเคมีตกค้าง  อีกทั้งนำแห้วสดหรือแห้วที่เหลือจากกระบวนการตัดแต่งมาใช้ประโยชน์โดยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น หมูยอแห้ว ขนมจีบแห้ว ชาแห้ว เป็นต้น

จากผลการดำเนินงานดังกล่าวทำให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการผลิตแห้วแบบอินทรีย์ รวมถึงการแปรรูปผลผลิตจากแห้วในพื้นที่ให้มีมุลค่าเพิ่ม เพื่อสร้างรายได้ และทำให้เป็นที่ยอมรับ และรู้จักของคนหมู่มากเพิ่มขึ้น นอกจากนี้เพื่อให้ทีมนักวิจัยได้นำความรู้และประสบการณ์ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปแก้ปัญหาโจทย์ของการการพัฒนาชุมชน/หมู่บ้าน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มโอกาสของการเข้าถึงกลุ่มวิจัย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ข้อ 4.3.4 และ 6.5.1 ภายใต้แพลตฟอร์มบ่มเพาะหมู่บ้านวิทยาศาสตร์ (Science Community Incubator : SCI) ที่มุ่งเน้นการพัฒนาพื้นที่เพื่อสร้างชุมชนวิทยาศาสตร์ ชุมชนแห่งการเรียนรู้ โดยคนในชุมชนมีหลักคิดเชิงวิทยาศาสตร์ สามารถพึ่งพาตนเองได้ สร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ และสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง “นักวิทย์ชุมชน (STI changemakers)” รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนและท้องถิ่นในการบริหารจัดการตนเองให้มีความสามารถในการบริหารห่วงโซ่คุณค่าเพื่อเศรษฐกิจชุมชน ตลอดจนมีการสร้างระบบข้อมูลและแพลตฟอร์มความรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดยมีเป้าหมายสุดท้าย (ultimate goal) คือ การสร้างโอกาสให้ชาวบ้าน ได้ลุกขึ้นมาแก้ปัญหาของชุมชนเอง สร้างความความเข้มแข็งเพื่อสร้างรายได้
ลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาวสู่การสร้าง “นวัตกรชุมชน” ต่อไป



Tag : #ทอsdg4.3.4 # ทอsdg6.5.1



ข้อมูลจาก : นางสาวศิโรรัตน์ เขียนแม้น


25 ครั้ง

Address
การให้บริการ

สถิติการเข้าชม
  • วันนี้ : 11 ครั้ง
  • เดือนนี้ : 1002 ครั้ง
  • ปีนี้ : 5782 ครั้ง
  • ทั้งหมด : 30948 ครั้ง
Follow Us

Copyright ©2020 GreenUniversity | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ